goshop

  เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก   
  ตะกร้าสินค้า (0)

กฏการเล่นหมากล้อมเบื้องต้น


บทเรียนที่ 1 : คุยกันก่อนเริ่มหัดเล่น
บทเรียนที่ 2 : ลมหายใจของเม็ดหมาก
บทเรียนที่ 3 : การจับกินเม็ดหมาก
บทเรียนที่ 4 : จุดที่ห้ามวางเม็ดหมาก
บทเรียนที่ 5 : กลุ่มหมากสองห้องจริง (กลุ่มหมากที่จับกินไม่ได้)
บทเรียนที่ 6 : รอดทั้งสองฝ่ายหรือเซกิ (Seki)
บทเรียนที่ 7 : การนับแต้มพื้นที่ครอบครอง
บทเรียนที่ 8 : ข้อต่อรองหรือโคะ (Ko)
บทเรียนที่ 9 : แต้มต่อหรือโคมิ (Komi) และการต่อเม็ดหมาก

บทเรียนที่ 1 : คุยกันก่อนเริ่มหัดเล่น

     การหัดเล่นหมากล้อมไม่ยากแต่จะให้เก่งนั้นถือว่าต้องใช้เวลานาน เพราะกฏเกณฑ์ที่เรียบง่ายทำให้หมากล้อมมีความซับซ้อนมาก หมากล้อมเป็นเกมที่เริ่มจากการวางนโยบาย ยุทธศาตร์ และการวางแผนกลยุทธ์ เป็นเกมที่มองภาพรวมทั้งหมดของกระดาน เนื่องจากหมากล้อมเล่นบนกระดานขนาดใหญ่ที่มีเส้นตัดขนาด 19x19 เส้น ดังนั้นจะเกิดกลุ่มหมากหลายกลุ่มบนกระดานหรือหลายสนามรบ จะต้องดูความสัมพันธ์ทั้งหมด คอยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ให้สอดคล้องรู้จักการสละเม็ดหมาก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด ดังคำที่ว่าถึงจะแพ้สนามรบแต่ไม่แพ้สงคราม

     ประโยชน์ในการเล่นหมากล้อมมีหลายด้านมีการวิจัยกันมากมายทั้งในและต่างประเทศ เช่น สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำการศึกษาร่วมกับสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก และสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เยาวชนที่เล่นหมากล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกนึกคิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น มีความคิดที่หลากหลาย มองปัญหาอย่างครบถ้วน พร้อมเผชิญกับปัญหา มีการวางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิม มีสมาธิและมีเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และความรู้สึกนั้น เยาวชนมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นและรู้จักปล่อยวาง รู้จักหยุดคิด ใคร่ครวญไตร่ตรองทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ส่วนพฤติกรรม พบว่า เยาวชนมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในชีวิต และมีความสุภาพอ่อนน้อม

     หมากล้อมเป็นเกมที่เรียบง่ายมีกฏการเล่นเล็กน้อย เล่นกันบนกระดานขนาดมาตรฐาน 19x19 ที่ใช้ในการแข่งขัน และกระดานหัดเล่นขนาด 9x9 หรือ 13x13 เริ่มโดยการวางหมากเม็ดหมากสีขาวและสีดำสลับกันลงบนจุดตัดบนกระดานที่ว่างเปล่า (หมากที่วางไปแล้วจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้นอกจากถูกจับกิน) เป้าหมายเพื่อครอบครองพื้นที่ให้ได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม ดังรูป ผู้ที่มีฝีมือด้อยกว่าหรืออายุน้อยกว่าจะถือเม็ดหมากสีดำและเป็นฝ่ายเริ่มวางเม็ดหมากก่อน (ถ้าระดับฝีมือเท่ากันจะทำการทายโดยการหยิบกลุ่มหมากและให้ฝ่ายตรงข้ามทายว่าเป็นคู่หรือคี่) ก่อนเริ่มเล่นจะต้องโค้งคำนับและกล่าว “ขอคำแนะนำด้วย ครับ/ค่ะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักหมากล้อมทุกคนปฏิบัติ

บทเรียนที่ 2 : ลมหายใจของเม็ดหมาก

     เม็ดหมาก 1 เม็ดเมื่อวางลงกลางกระดานจะมีลมหายใจทั้งหมด 4 ลม ดังรูป เม็ดหมากข้างกระดานจะมี 3 ลม และเม็ดหมากมุมกระดานจะมี 2 ลม

     หากวางต่อกันเป็นโซ่ จะทำให้มีลมหายใจเพิ่มขึ้น ดังรูปด้านล่าง และจะเห็นว่ากลุ่มหมาก A และ B ที่ใช้จำนวนหมาก 3 หมากเท่ากัน แต่รูปร่างหมากที่ต่างกันก็ทำให้ลมหายใจไม่เท่ากัน

บทเรียนที่ 3 : การจับกินเม็ดหมาก

     ในการแข่งขันการนับลมหายใจเป็นสิ่งสำคัญอยู่ไม่น้อยเพราะหากถูกฝ่ายตรงข้ามปิดล้อมลมหายใจไว้ทั้งหมด จะถูกจับกินออกจากกระดานเป็นเชลย ดังรูป เม็ดหมากดำจะถูกหยิบออกจากกระดาน

บทเรียนที่ 4 : จุดที่ห้ามวางเม็ดหมาก

     ถึงแม้ว่าเกมหมากล้อมให้อิสระในการวางหมากที่ใดก็ได้บนกระดาน แต่ก็มีกรณีที่จะวางเม็ดหมากไม่ได้อยู่ ดังรูป ที่จุด A, B และ C วางเม็ดหมากดำไม่ได้ เพราะว่าเมื่อว่าไปแล้วเม็ดหมากดำจะไม่มีลมหายใจเลย ส่วนในจุด D และ E นั้นหมากดำสามารถวางได้เนื่องจากก่อนที่จะตัดลมหายใจของตัวเองนั้นได้ตัดลมหายใจและจับกินเม็ดหมากขาวได้ก่อน


     ก่อนที่จะเริ่มดูในบทที่ 5 เราจะเล่นหมากล้อมจับกินกันก่อนเพื่อให้เข้าใจ ในเรื่องของลมหายใจและการจับกิน โดยมีกฏง่ายๆว่าใครถูกจับกินก่อนจะแพ้ทันที (ถูกคิดขึ้นโดย Yasuda Yasutoshi โปรญี่ปุ่น 9 ดั้ง)


บทเรียนที่ 5 : กลุ่มหมากสองห้องจริง (กลุ่มหมากที่จับกินไม่ได้)

     ในการเล่นหมากล้อมเมื่อเราถูกล้อมจะต้องสร้างกลุ่มหมาก 2 ห้องเพื่อสร้างชีวิตรอด ดังรูป จะเห็นว่ากลุ่มหมากดำ A มีห้องเดียวจะถูกจับกินได้ แต่กลุ่มหมากดำ B, C และ D มีสองห้อง (สองลมหายใจ) ด้วยกฏห้ามวางฆ่าตัวตายในบทที่ 3 ทำให้กลุ่มหมากมีชีวิตรอด

     แต่ว่ามีสิ่งสำคัญมากที่ต้องระวังคือจะต้องมีห้องจริงทั้งสองห้องเท่านั้น ดังในรูปข้างล่าง จะดูเหมือนว่ากลุ่มหมากดำ A และ B มีสองห้องจริงแต่ในความจริงแล้ว มีเพียงหนึ่งห้องจริงเท่านั้น และเป็นห้องปลอมอีกหนึ่งห้อง (ห้องปลอมจะสามารถจับกินได้) ส่วนกลุ่มหมากดำ C นั้นไม่มีห้องจริงเลยซักห้อง ทำให้กลุ่มหมากทั้ง 3 กลุ่มสามารถถูกจับกินได้

บทเรียนที่ 6 : รอดทั้งสองฝ่ายหรือเซกิ (Seki)

     ปกติกลุ่มที่มี 1 ห้องหรือไม่มีห้องจะถูกจับกินได้ แต่ก็มีสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน ดังรูป กลุ่มหมากดำและขาวสามเหลี่ยมทั้งสองกลุ่มใช้ลมหายใจร่วมกัน ทำให้มีชีวิตรอดอยู่ทั้งคู่หรือที่เรียกว่าเกิดเซกิ

บทเรียนที่ 7 : การนับแต้มพื้นที่ครอบครอง

     ในรูปด้านล่างตรงเครื่องหมายกากบาท จะเห็นว่าเป็นที่สาธารณะ เป็นเขตที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน ก่อนทำการนับแต้มจะต้องสลับกันถมพื้นที่เหล่านี้ก่อน (เม็ดขาวสี่เหลี่ยมเป็นหมากเชลย)

     เมื่อสลับกันถมที่สาธารณะเสร็จแล้ว ดังรูปด้านล่างที่เครื่องหมายกากบาท และผู้เล่นทั้งสองฝ่ายบอกผ่านไม่วางเม็ดหมากเพิ่มแล้วจะเริ่มทำการนับแต้ม โดยจะนำเชลยมาถมพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามก่อน

     เสร็จแล้วจึงทำการนับแต้มพื้นที่ และเพื่อเป็นการสะดวกในการนับ ก็จะจัดเรียงหมากใหม่เพื่อให้ง่ายในการนับ ดังรูป พื้นที่หมากดำมี 20 แต้ม พื้นที่หมากขาวมี 15+1 = 16 แต้ม ดังนั้นหมากดำชนะไป 4 แต้ม

*การนับแต้มแบ่งหลักๆมี 2 แบบคือการนับแต้มแบบจีน และการนับแต้มแบบญี่ปุ่น ซึ่งจะให้ผลคล้ายกัน (ด้านบนเป็นการนับแต้มแบบญี่ปุ่น)

บทเรียนที่ 8 : ข้อต่อรองหรือโคะ (Ko)

  เกือบจบแล้ว แต่ยังเหลืออีกข้อเดียวคือข้อต่อรองหรือโคะ ในบางเกมที่เราเล่นกันจะเกิดสถานการณ์ที่มีการกินเม็ดหมากกลับไปกลับมา ดังรูปที่ 1. และ 2.

     ดังนั้นจึงมีกฏว่าห้ามกินกลับทันทีต้องเล่นที่อื่นก่อน ถึงจะกลับมาวางได้ ดังรูป เมื่อลำดับเม็ดหมากถึงเม็ดดำ 5 ทำเกิดรูปร่างโคะขึ้นมา ขาวจึงจับกินเม็ดดำ 1 ด้วยเม็ดขาว 6 ตอนนี้ดำจะจับกินกลับคืนทันทีไม่ได้ ต้องไปที่อื่นก่อน 1 ครั้ง

     หลังจากนั้นเม็ดดำ 7 เล่นหมากประชิด หมากขาวรับมือด้วยเม็ดขาว 8 (ถ้าขาวไม่สนใจก็สามารถเชื่อมหมากเพื่อจบโคะได้) ดำจึงกลับไปกินโคะได้ด้วยเม็ดดำ 9

     *โคะเกิดขึ้นได้หลายแบบอาจจะเข้าใจได้ยากสำหรับผู้หัดเล่นใหม่ดังนั้น เพียงจำกฏให้ได้ก่อนก็เพียงพอแล้ว สำหรับหมากล้อมโคะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และทำให้เกมหมากล้อมมีความสนุกยิ่งขึ้น

บทเรียนที่ 9 : แต้มต่อหรือโคมิ (Komi) และการต่อเม็ดหมาก

     สำหรับผู้ที่มีระดับฝีมือเท่ากันหรือในการแข่งขันจะมีการแต้มต่อหรือโคมิ เป็นแต้มต่อที่หมากดำจะให้สำหรับเม็ดขาวเนื่องจากได้วางหมากเป็นมือหลัง โคมิในปัจจุบันสำหรับกระดานขนาด 19x19 มีค่า 6.5 แต้ม (โคมิ 7.5 แต้มสำหรับการนับแบบจีน)
และสำหรับผู้เล่นที่มีระดับฝีมือต่างกันจะมีการต่อเม็ดหมาก ให้มีความทัดเทียมกัน การต่อหมากจะต่อหมากตั้งแต่ 2 หมากจนถึง 9 หมาก รูปแบบการต่อหมากเป็นดังรูป

     *บทเรียนทั้ง 9 บทนี้มีไว้เพียงให้เข้าใจในกฏของหมากล้อมทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วจะมีรายละเอียดและเทคนิคการเล่นหมากล้อมอีกมาก บทเรียนจึงนี้เหมาะสำหรับผู้ที่จะเอาไปใช้ในการสอนและอบรมหมากล้อมมากกว่า เพื่อให้ผู้สอนคอยสอดแทรกตัวอย่างและแบบฝึกหัดให้เข้าใจมากขึ้น

จัดทำโดย สัจจา ชัยภิบาล 2 ดั้ง สมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  11,841
Today:  4
PageView/Month:  18

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com